วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

22 ขั้นตอนตรวจสอบรถมือสองด้วยตัวคุณเอง

22 ขั้นตอนตรวจสอบรถมือสองด้วยตัวคุณเอง
By Dan: Carfair group


  ถ้าคุณมีความคิดจะหาซื้อรถมือสองดีๆสักคัน คุณคงรู้สึกได้ถึงความสับสนที่จะเกิดขึ้นในความคิด เนื่องจากมีปัจจัยที่น่าปวดหัวมากมายให้คุณจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เช่น
-ขั้นตอนการหาซื้อรถมือสอง ที่คุณต้องทำการบ้านให้ดี
-การตรวจสภาพรถมือสอง เพื่อประกอบการตัดสินใจ
-ราคาที่เหมาะสม
-แผนการซ่อมบำรุง เพื่อให้รถสามารถใช้ได้เป็นอย่างดี
 
      ถ้าคุณเห็นด้วยกับการต้องรู้สภาพรถก่อนการตัดสินใจซื้อ ผมอยากนำเสนอวิธีการตรวจสอบรถที่สามารถใช้ได้อย่างทันสมัยตลอดกาล และสามารถฝึกฝนเองได้ที่บ้าน

 
    22 ขั้นตอนที่คุณสามารถตรวจสอบรถมือสองด้วยตัวคุณเอง


1.ต้องแน่ใจว่ารถที่คุณกำลังตรวจสอบอยู่นั้น จอดอยู่บนพื้นราบ ไม่เอียงขึ้นลง หรือเอียงซ้ายเอียงขวาเพราะคุณจะสามารถทำการตรวจยางและระดับของช่วงล่างได้แม่นยำ นอกจากนี้การจอดในพื้นราบยังเป็นการสร้างความปลอดภัยจากรถเคลื่อนที่เองในขณะตรวจสอบได้อีกด้วย









2.ตรวจดูการทำสีของรถ ดูร่องรอยสนิมต่างๆ รอยนูน รอยบุ๋ม และรอยถลอก หลุดร่อนต่างของสีรถ โดยขั้นตอนนี่จะต้องดูอย่างละเอียดเรียงไปตั้งแต่ด้านหน้ารถ ด้านข้าง ด้านหลัง ด้านบน ตลอดจนถึงตัวถังด้านในทุกส่วน ว่าสีที่ปรากฏนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร มีรอยสนิม รอยถลอก หรือร่องรอยปูดรอยบุ๋มหรือไม่ เพื่อดูว่ารถคันนี้มีโครงสร้างพื้นผิวต่างๆสมบูรณ์ดีอยู่หรือไม่






3.ตรวจสอบในส่วนของห้องเก็บของที่อยู่ส่วนท้ายรถว่ามีสภาพสวยงามเรียบร้อยดีอยู่หรือไม่ เปิดดูยางอะไหล่และเครื่องมือประจำรถว่ามีครบหรือไม่ อ่างยางอะไหล่มีสภาพเรียบร้อยสมบูรณ์ดีอยู่หรือไม่










4.ตรวจดูอุปกรณ์ที่อยู่ใต้ฝากระโปรงหน้ารถ ว่ามีร่องรอยการชน รอยบุบ รอยปูด หรือร่องรอยความเสียหายต่างๆที่อาจเกิดจากการไม่ดูแลรักษารถหรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ
      นอกจากนี้ ภายใต้ฝากระโปรงเรายังสามารถตรวจสอบเลขตัวถังและเลขเครื่องได้อีกด้วย ถ้าเลขเหล่านี้ไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือหายไป หรือมีลักษณะถูกแก้ไขใหม่มา คุณคงต้องสอบถามถึงเหตุผลกับผู้ขายและตรวจสอบละเอียด







5.ตรวจเช็คท่อยางและสายพานต่างๆ ว่ามีรอยร้าวรอยรั่วหรือรอยแตกลายงา รวมถึงยังมีสภาพความยืดหยุ่นสวยงามดีหรือไม่ สายพานต่างๆต้องไม่หย่อนหรือตึงเกินไป












 6.เปิดประตูเข้าดูภายในห้องโดยสาร ดูเบาะที่นั่งทุกๆตำแหน่งว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ มีรอยฉีกขาดหรือมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ยังสะอาดสดใสอยู่หรือไม่











 7.ตรวจสอบดูว่า ระบบทำความเย็นสามารถทำงานได้สมบูรณ์หรือไม่ ลองปรับความเย็นและแรงลมว่าทำงานได้ดีในทุกระดับหรือไม่
    และน้ำยาแอร์ของรถต้องจะเป็นชนิด R134  เพราะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา รถทุกคันจะต้องใช้น้ำยาแอร์ R134 เท่านั้น
 









8.ตรวจดูเลขระยะทางที่ให้งานมา เลขระยะทางสามารถเป็นตัวบอกอายุของรถและความเสื่อมถอยของชิ้นส่วนต่างๆได้
   โดยปรกติทั่วไปรถจะมีระยะทางในการใช้งานประมาณ 25000 – 35000 กิโลเมตรต่อปี ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาชีพของผู้ขับขี่ พื้นที่ที่ใช้ ว่าเป็นรถใช้ในเมือง หรือใช้ระหว่างพื้นที่
    แต่อย่างไรก็ตามคุณจะต้องจำไว้ให้ขึ้นใจว่า สภาพรถ ปีรถ และ ระยะทางขับขี่ ควรสอดคล้องกัน การซื้อรถที่มีอายุ 10 ปี แต่วิ่งมาแค่ 30000-40000 กิโลเมตร นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ดี




9.การทดลองขับก่อนการตัดสินใจขั้นตอนสุดท้าย ข้อนี้เป็นการตรวจสอบที่ดีมากที่ทำให้เราสามารถรู้สภาพโดยรวมของรถว่าสามารถใช้ได้ดีหรือไม่ รวมถึงเสียงต่างๆที่ผิดปรกติสามารถตรวจพบได้ในขั้นตอนนี้
    จำไว้ว่าคุณหรือช่างของคุณควรได้ทดสอบขับรถก่อนการตัดสินใจซื้อ









10.การตรวจสอบคู่มือเข้าศูนย์บริการประจำรถ เพื่อดูประวัติการเข้าซ่อมบำรุงการเปลี่ยนชิ้นส่วนต่างๆ รวมถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับรถคันนั้น
      ถ้าจะให้สมบูรณ์ที่สุด เจ้าของผู้ขายรถควรเก็บเอกสารต่างๆเกี่ยวกับการเข้าศูนย์บริการไว้แสดงแก่ผู้ซื้อ เพื่อให้ผู้ซื้อรถสามารถวางแผนหลังการซื้อได้ว่า จะต้องนำรถไปเข้าตารางการซ่อมบำรุงต่อไปอย่างไร
    รถคันนั้นจะเข้าศูนย์บริการรถอิสระ หรือผู้ใช้ซ่อมบำรุงเองก็ได้ ตราบใดที่เจ้าของรถสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาทำอะไรกับรถมาบ้าง แต่ผู้ขายหลายรายอาจแก้ไขหรือทำการปกปิดเอกสารเหล่านี้ในกรณีที่รถใช้งานหนักมากหรือเกิดอุบัติเหตุหนักมา



11.ตรวจสอบระบบเบรก สามารถทำได้โดยระหว่างทดลองขับลองเบรกกระทันหัน เพื่อทดสอบระบบเบรก และ ระบบ ABS ว่าสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบหรือไม่ สามารถใช้การทดสอบบนความเร็ว ไม่เกิน 60 กม/ชม บนที่ๆไม่มีรถหนาแน่นและควรระวังรถที่ขับตามด้วย
       ระหว่างเบรกยังสามารถตรวจสอบความผิดปรกติต่างๆจากเสียงเบรกได้ว่า ผ้าเบรกผิดปรกติ ใกล้หมด หรือรวมไปถึงจานเบรกว่ามีพื้นผิวสัมผัสที่สมบูรณ์อยู่หรือไม่
การทดสอบนี้สำคัญต่อความปลอดภัยในการขับขี่มาก




12.ตรวจสอบดูส่วนประกอบต่างๆของเครื่องยนต์ ว่ามีของเหลวที่ผิดปรกติรั่วซึมหรือมีชิ้นส่วนที่มีรอยร้าว หรือมีสนิมหรือรอยถลอกรอยแตกที่ผิดปรกติหรือไม่
   ข้อนี้จะทำให้เราสามารถดูการใช้งานที่ผ่านมา หรือเอาไว้ใช้ในการวางแผนซ่อมบำรุงต่อไปได้











13.เปิดฝาน้ำมันเครื่องตรวจดูสภาพ คราบ และรอยสนิมต่างๆ เพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของแหวนลูกสูบ รวมถึงการดูสีของของเหลวภายในว่ามีสีผิดปรกติที่เกิดจากเครื่อง Over heat ทำให้ฝาสูบโก่ง ทำให้มีของเหลวอื่นๆ ปะปนไปในน้ำมันเครื่องหรือไม่









14.ตรวจสอบแกนวัดระดับของเหลวต่างๆ ต้องอยู่ในระดับปรกติ ไม่มากหรือน้อยกว่าขีดปรกติ ต้องมีสีใสปรกติ ไม่ดำเกินไป หรือมีกลิ่นไหม้ การวัดระดับจากแกนวัดระดับเหล่านี้ควรทำในขณะยังไม่ติดเครื่อง











15. ตรวจสอบสายพาน Timing สายพาน Timing เป็นชิ้นส่วนที่สำคัญอย่างหนึ่งในเครื่องยนต์
   ถ้ารถบางรุ่นในปัจจุบันใช้ โซ่ Timing แทน คุณก็หมดกังวลเกี่ยวกับการตรวจสอบในข้อนี้ได้
     โดยปรกติทั่วไป สายพาน Timing จะมีระยะการใช้งานได้ระหว่าง 100000-200000 กิโลเมตร แล้วแต่ผู้ผลิตรถ









16.ตรวจสอบยางรถทั้ง 4 ล้อ ว่ามีลักษณะต่างๆเหมือนกันหรือไม่ ทั้งรุ่น ปีที่ผลิต รวมไปถึงลักษณะความสมมาตรกันของยางแต่ละเส้น ลักษณะการสึกกร่อน
   การสึกที่ไม่เท่ากันทั้งเส้น หรือไม่เท่ากันระหว่างล้อซ้ายขวา อาจทำให้เราสันนิษฐานได้ว่า จุดศูนย์ถ่วงของรถคันนี้ผิดปรกติ อาจต้องทำการตั้งศูนย์ใหม่ หรืออาจตั้งไม่ได้ในกรณีรถอุบัติเหตุจนเสียศูนย์ถาวร








17. ตรวจดูส่วนต่างๆของตัวถังว่าเคยเกิดอุบัติเหตุมาหรือไม่ ดูตามขอบชิ้นส่วนต่างๆว่าเรียบร้อยดีหรือไม่ ไม่เป็นรอยบุบ ขรุขระ บิดเบี้ยว หรือมีสีที่แตกต่างกับชิ้นส่วนเดียวกันในบริเวณใกล้เคียง
     ดูการแตกร้าวของชิ้นส่วนต่าง เพื่อตรวจสอบถึงสภาพการเกิดอุบัติเหตุของรถ











18. ทำการตรวจสอบใต้ท้องรถ ตรวจดูระบบท่อไอเสียทั้งหมด ตรวจสอบดูรอยดำที่ผิดปรกติต่างๆ รอยสนิม รอยแตก หรือรอยของเหลวที่รั่วซึมออกมาตามรอยรั่วของระบบท่อไอเสีย
    การตรวจสอบนี้ยังอาจบอกได้ถึงสภาพการเกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย









19.คุณควรหาเพื่อนที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านตัวถังแบบจริงจังไว้ใจได้ หรือสามารถจ้างช่างตรวจสอบคุณภาพรถที่เป็นช่างที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านการตรวจสอบสภาพรถมือสองที่ไว้ใจได้ช่วยตรวจสอบรถให้ หรืออาจส่งรถไปตรวจกับศูนย์ตรวจรถอันทันสมัยในกรณีที่สามารถตกลงกับผู้ขายได้
   แต่ต้องระวังว่าการตรวจสอบจากเพื่อนหรือช่าง หรือศูนย์บริการเหล่านี้ จะต้องไม่ทำให้รถเละเป็นโจ๊กจนคุณต้องรับผิดชอบซื้อเอาไว้แทน




20.คำนวณราคา เมื่อสามารถตรวจสอบทุกๆจุดตามที่ได้นำเสนอมาแล้ว เรื่องถัดไปคือการนำเอาข้อมูลคุณภาพรถทั้งหมดมาคำนวณเป็นราคาที่เหมาะสม โดยอาจอ้างอิงจาก"ราคากลาง"ของรถที่มีสภาพกลางๆ
    จากนั้นถ้ารถที่คุณดูอยู่มีสภาพดีก็สามารถซื้อได้ในราคาใกล้ๆกับราคากลาง แต่ถ้ารถมีจุดบกพร่องมาก ราคาก็ควรต่ำกว่าราคากลางอย่างแน่นอน
    ข้อมูลในจุดนี้สามารถทำให้เรารู้ได้ว่าราคาที่เหมาะในการต่อรองแบบมีเหตุผลควรเป็นเท่าใด จำไว้เสมอว่า ของดีราคาถูกมากๆไม่มีอยู่ในโลก
     ความจริง ของดีราคาเหมาะสมถึงจะเป็นรถที่คุณควรเป็นเจ้าของ



21.รถบ้าน หรือ รถเต๊นท์ นั้นไม่ได้มีความสำคัญ เท่าการที่คุณสามารถรู้สภาพที่แท้จริงของรถ
    เพราะในปัจจุบันความนิยมในการซื้อรถที่เจ้าของขายเอง(หรือที่เรียกกันว่ารถบ้าน)จะทำให้ผู้ซื้อมั่นใจและยอมจ่ายเงินมากกว่า
    แต่ในความเป็นจริง ขบวนการ "รถบ้านเทียม" มีมายมาย
 ดังนั้นการหารถโดยดูสภาพจริงได้ เป็นสิ่งที่คุณควรใช้ในการตัดสินใจซื้อรถมือสอง

( คลิกที่นี่เพื่ออ่านบทความเรื่องรถบ้าน )



22.เข้าศูนย์บริการ หลังจากได้รถมือสองที่ถูกใจมาแล้ว คำแนะนำสุดท้ายก็คือ การเตรียมนำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อดูแลในส่วนของอุปกรณ์ที่เราตรวจพบว่าไม่สมบูรณ์จากการตรวจตอนซื้อ
    อาจมีการเปลี่ยนของเหลวต่างๆที่หมดอายุการใช้งาน หรือตกแต่งอุปกรณ์เพิ่มเติมให้รถของเราดูดีงดงามหรือแต่งซิ่งก็ได้ตามใจชอบ






 www.sabuycar.com




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น